GAT KNOWLEDGE
ทำอย่างไรจึงห่างไกลมะเร็งตับ

อ.พญ.สริตา รัตนอมรพิน
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
มะเร็งตับปฐมภูมิเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และพบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มะเร็งตับเป็นหนึ่งในโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง และพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สามของโรคมะเร็งทั้งหมดทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ โรคตับเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งตับที่มาพบแพทย์โดยมีอาการแสดง เช่น ท้องโต ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น มักได้รับการวินิจฉัยในระยะท้ายของโรคทำให้ยากต่อการรักษา การป้องกันมะเร็งตับจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งตับรายใหม่ และเพื่อตรวจพบมะเร็งตับในระยะต้นซึ่งนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งตับ เช่น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับโดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี และ/หรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับ
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดในตับมากขึ้น และเกิดโรคตับแข็งได้ประมาณร้อยละ 20-30 ในระยะเวลา 20-30 ปี ทำให้มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้น
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดภาวะตับคั่งไขมัน ภาวะตับอักเสบ และโรคตับแข็งซึ่งเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งตับ
- ภาวะตับคั่งไขมันในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการเมแทบอลิก (metabolic syndrome) ได้แก่ ภาวะอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะตับอักเสบเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดพังผืดในตับมากขึ้น และนำไปสู่โรคตับแข็ง
- โรคตับแข็ง
แนวทางการป้องกันมะเร็งตับ
เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งตับและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตับเรื้อรังควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- แนะนำฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ฉีดสารเสพติดเข้าหลอดเลือด และผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เป็นต้น - ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและ/หรือไวรัสตับอักเสบซีควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังควรพบแพทย์เพื่อประเมินข้อบ่งชี้ในการเริ่มยาต้านไวรัส และควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้ที่เป็นตับแข็ง ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี และผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งตับ
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังควรได้รับการรักษาทุกราย เพื่อลดการดำเนินโรคไปสู่โรคตับแข็ง - งดดื่มแอลกอฮอล์
- การงดดื่มแอลกอฮอล์สามารถป้องกันการเกิดภาวะตับคั่งไขมันและตับอักเสบ และลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ
- ในผู้ป่วยที่มีโรคตับจากแอลกอฮอล์ การงดดื่มแอลกอฮอล์สามารถลดการเกิดภาวะตับคั่งไขมันและตับอักเสบได้ ชะลอการดำเนินโรคและในระยะยาวสามารถลดพังผืดในตับ - หยุดสูบบุหรี่
- การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อตับ โดยพบว่าความสัมพันธ์กับการเกิดพังผืดในตับเพิ่มขึ้น จึงควรหยุดสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ที่ผลิตโดยเชื้อราสามารถปนเปื้อนในอาหารแห้งที่เก็บรักษาไม่ดี เช่น ถั่วลิสง พริกแห้ง เป็นต้น
- ดื่มกาแฟดำ
- มีการศึกษาพบว่ากาแฟดำอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะตับอักเสบและมะเร็งตับ - ปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อลดหรือป้องกันภาวะตับคั่งไขมัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แนะนำออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ในผู้ที่มีภาวะตับคั่งไขมัน
- ลดน้ำหนัก- ในผู้ที่มีภาวะตับคั่งไขมันที่มีน้ำหนักปกติ แนะลดน้ำหนักร้อยละ 3-5 ของน้ำหนักตัว
- ในผู้ที่มีภาวะตับคั่งไขมันที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน การลดน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวสามารถลดภาวะตับคั่งไขมัน และการลดน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 7-10 ของน้ำหนักตัวสามารถลดพังผืดในตับ
การตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับ
เนื่องจากมะเร็งตับเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก จึงสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคในระยะต้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษาที่เหมาะสมมากขึ้นรวมถึงเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
- ควรตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งและในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูง
- วิธีการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับที่แนะนำคือการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนร่วมกับการตรวจระดับซีรั่ม alpha-fetoprotein (AFP) ทุก 6-12 เดือน