ทีมกรรมการฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย
โดย อ.เกศินี เธียรกานนท์, อ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล, อ.สติมัย อนิวรรณน์, อ.พิเศษ พิเศษพงศา และ อ.ทยา กิติยากร เป็นผู้ให้การรับรองเนื้อหาบทความ

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มแรกจะเติบโตช้า ทำให้ไม่มีอาการ แต่พอมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือลุกลามออกไปนอกลำไส้ใหญ่ จึงจะแสดงอาการ ดังนั้นกว่าจะตรวจวินิจฉัยได้ส่วนใหญ่ก็เป็นระยะท้ายไปเสียแล้ว

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยแค่ไหน?

รายงานจากสถิติมะเร็งของประเทศไทยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ. 2563  พบมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศชาย รองลงมาเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปอดและหลอดลมตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงพบมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 12.2 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศหญิง

ภาพรวมอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ 16.9 คนต่อประชากร 100,000 คน จัดว่าพบค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเชียใต้ด้วยกัน (ภาพที่ 1) นอกจากนี้ย้อนไปในระยะเวลา 20 ปีพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าจากอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในปี พ.ศ.2543 ซึ่งขณะนั้นพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้รายใหม่เพียง 5 คนต่อประชากร 100,000 คน

ภาพที่ 1 อุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วโลก ปี พ.ศ. 2563

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอาการอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ จนกระทั่งก้อนมะเร็งขนาดใหญ่จึงจะแสดงอาการให้เห็น อาการที่พบได้แก่

- ถ่ายเป็นเลือด, อาการซีดอ่อนเพลียเนื่องจากมีภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก

- การขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายมีมูกเลือดปน อาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ร่วมด้วยได้

- อาการจากทั่วไปจากมะเร็ง ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่?

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ถือเป็นการตรวจมาตรฐานสูงสุดเพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถเห็นลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด และทำการตัดเชื้อเนื้อตรวจทางพยาธิยืนยันได้ในเวลาเดียวกัน กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่จะเห็นลักษณะของลำไส้ใหญ่ปกติ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ภาพผนังลำไส้ใหญ่ปกติ และผนังลำไส้ที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาอย่างไร?

การรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่ประกอบด้วย การผ่าตัด เพื่อตัดเอาก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนนั้น ร่วมกับตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ส่วนที่มีมะเร็งออกไป ต่อจากนั้นแพทย์พิจารณาว่าอาจจะมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่ ปัจจุบันองค์ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเทคนิคการผ่าตัดหลายแบบเพื่อลดภาวะทุพพลภาพ ร่วมกับมียามุ่งเป้าต่อเซลล์มะเร็งที่มีความผิดปกติทางพันธุศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ต้องอาศัยการดูแลร่วมกันโดยทีมแพทย์หลายสาขา

 

โอกาสรอดชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มีมากน้อยเพียงใด?

การพยากรณ์โรคขึ้นกับขอบเขตเนื้อมะเร็งในผนังลำไส้ และการกกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง พบว่าเนื้อมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทะลุชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ จัดว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 1 จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ประมาณสูงมากกว่าร้อยละ 90 แต่หากก้อนมะเร็งมีความลึกเลยผนังชั้นนอกของลำไส้ หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ประมาณร้อยละ 25-75 และหากพบมีกระจายออกไปอวัยวะหรือเยื่อบุช่องท้องจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีน้อยกว่าร้อยละ 3

กำลังใจถึงผู้ป่วยและครอบครัว

ปัจจุบันมีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการให้คำแนะนำเรื่องการตรวจติดตามสม่ำเสมอ การส่องกล้องลำไส้เฝ้าระวังลำไส้ส่วนที่เหลือเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งควรให้คำแนะนำแก่ญาติลำดับที่หนึ่งของผู้ป่วยให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุที่น้อยกว่า 10 ปีจากอายุผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ หรืออายุตั้งแต่ 50 ปี เพื่อสุขภาพลำไส้ที่ดีของทุกคน